เติมเต็มศักยภาพนักเรียนด้วยกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต (Future Problem Solving; FPS)
- ดร. คมกริช แม่นยำ - โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
- อาจารย์บุษกร วงษ์ปาน - โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา จากแนวคิดของ Dr. E. Paul Torrance ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมในห้องเรียน โดยกำหนดเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ท้าทาย เพื่อให้นักเรียนคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร การเขียน การพูด กระตุ้นความสนใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เกิดการเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชีวิตประจำวัน กระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าอย่างเป็นระบบ พัฒนาทักษะในการต่อสู้กับสิ่งที่น่าสงสัย นักเรียนสามารถบ่งชี้ปัญหา และหาทางเลือกในการแก้ปัญหา ตลอดจนหาข้อสรุปเพื่อยืนยันข้อสงสัยนั้น ๆ ได้ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพราะนอกเหนือจากเรียนรู้เนื้อหาทางวิชาการแล้วนั้น นักเรียนจำเป็นต้องรู้จักวิธีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ปัจจุบันมีประเทศมากกว่า 40 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย เป็นต้น ที่ใช้หลักสูตรนี้ในการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนและสนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต (Future Problem Solving Program International Conference: FPSIC) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนักเรียนจะต้องเริ่มต้นที่จะเรียนรู้การใช้เครื่องมือการคิด และกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต ทั้ง 6 ขั้นตอน อย่างเป็นระบบจากประเด็นปัญหาอนาคตที่ถูกกำหนดขึ้นจากองค์กรกระบวนการแก้ปัญหาอนาคตนานาชาติ (Future Problem Solving Program International: FPSPI) ปีละ 4 ประเด็น และนำเสนอแนวคิดการแก้ปัญหาผ่านการแสดงบทบาทสมมุติ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาได้เริ่มนำกระบวนการแก้ปัญหาอนาคตมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบของโปรแกรมเสริมสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนกระทั่งสามารถผลักดันให้นักเรียนไปเข้าร่วมแข่งขั้น FPSIC ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เป็นปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้ทีมงานคณาจารย์เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการแก้ปัญหาอนาคตตามระบบสากลในบริบทของความเป็นไทย จึงต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวแก่ท่านที่สนใจ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในห้องเรียนทั่วไป