การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการคิดเชิงออกแบบ
- ผศ. ดร.เรวณี ชัยเชาวรัตน์ - คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนรู้ของผู้เรียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในชั้นเรียนและไม่ได้เกิดขึ้นผ่านการถ่ายทอดสาระความรู้จากครูเพียงเท่านั้น "การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการคิดเชิงออกแบบ" Learning Experience Design (LXD) by Design Thinking จะทำให้ครูผู้สอนสามารถทำความเข้าใจผู้เรียนในฐานะผู้ใช้นวัตกรรมหรือประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สามารถกำหนดปัญหาในการเรียนรู้และการหาทางแก้ไข รวมทั้งสามารถพัฒนาต้นแบบและการทดสอบนวัตกรรมการเรียนรู้หรือประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีคุณค่าสำหรับผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งในด้านแบบการเรียนรู้หรือลีลาการเรียนรู้ รวมทั้งประสบการณ์และภูมิหลัง ทำให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ รู้สึกมีส่วนร่วมในประสบการณ์การเรียนรู้และเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากเดิมผู้สอนอาจมีคำถามว่า ทำไมเด็กๆ ไม่สนใจสิ่งที่ครูสอน หรือสิ่งที่ครูพูด อธิบายเลย? หรือ ทำไมเด็กๆ ไม่ตั้งใจเรียนกันเลย? การคิดเชิงออกแบบจะชวนให้ผู้สอนเปลี่ยนคำถามเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียนใหม่ เช่น จะทำอย่างไรให้สิ่งที่ครูกำลังสอนน่าสนใจกว่านี้? เด็กๆ ชอบเรียนรู้แบบไหนกันบ้าง? ถ้าครูทำแบบนี้ เด็กๆ จะเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร? เป็นต้น กล่าวได้ว่า การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการคิดเชิงออกแบบเป็นการให้ความสำคัญกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้สอนจะออกแบบให้แก่ผู้เรียน บนพื้นฐานของการทำความเข้าใจผู้เรียนโดยแท้จริงนั่นเอง